วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการใช้ภาษาไทยของวัยรุ่น

           ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการใช้ภาษาไทยของวัยรุ่น
      ปัญหาการใช้ภาษาไทยได้เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานหลายสิบปี แต่ในยุคปัจจุบันนี้ปัญหายิ่งวิกฤติความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมีปัจจัยหนุนนำที่สำคัญนั่นคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็ว เราจึงพบการใช้ภาษาไทยแบบผิด ๆ มากมายจนเกือบจะกลายเป็นความคุ้นชิน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ยิ่งน่าเป็นห่วงมากที่สุด เป็นกลุ่มที่นิยมใช้ภาษาที่มีวิวัฒนาการทางภาษาที่เฉพาะกลุ่ม ซึ่งเป็นภาษาที่เกือบจะไม่มีไวยากรณ์ ไม่ว่าจะจากการรับส่งข้อความสั้น (SMS) การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) การสนทนาออนไลน์ (MSN) หรือแม้แต่การแสดงความคิดเห็นในโลกอินเทอร์เน็ต

       อินเทอร์เน็ต การใช้ภาษาไทยที่เกิดจากอินเทอร์เน็ตนั้นเริ่มลุกลามมาจากโปรแกรมแช็ทรูมและเกมออนไลน์ ซึ่งดูคล้ายเป็นการสนทนากันธรรมดา แต่เมื่อได้เข้าไปสัมผัสแล้ว มิใช่เลย การสนทนาอันไม่มีขีดจำกัดของภาษาทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย ดังเช่นที่พบตามหน้าหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน และในขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาให้แก่วงการภาษาไทยด้วย นั่นคือการกร่อนคำ และการสร้างคำใหม่ให้มีความหมายแปลกไปจากเดิม หรืออย่างที่เรียกว่าภาษาเด็กแนวนั่นเอง

       วัยรุ่น เป็นช่วงวัยที่มีการสื่อสารกันมากและมีรูปแบบการสื่อสารด้วยคำที่ทันสมัย มีความหมายเฉพาะสำหรับกลุ่มและช่วงวัย วัยรุ่นจึงขาดความคำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมของภาษาที่ใช้ให้เหมาะสม มีหลายสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นใช้ภาษาที่ผิดๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก ทำให้มีความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งการสื่อสาร วัยรุ่นในประเทศไทยยุคใหม่บางกลุ่มได้สร้างค่านิยมที่ผิดๆ มาใช้ คือ การใช้ภาษาไทยที่ผิดจากคำเดิม จึงทำให้ภาษาไทยของเราเปลี่ยนแปลงไป เยาวชนยุคหลังๆ จึงใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดทำการทดสอบวัดสมรรถภาพในการใช้ภาษาไทย หัวข้อทักษะการเขียนภาษาไทยเพื่อการประกอบอาชีพ โดยนำนิสิตจากจุฬาฯจำนวน 398 คน มาทำการทดสอบ ซึ่งพบข้อผิดพลาดอยู่หลายจุด และพบว่าไม่มีผู้ใดได้ผลในเกณฑ์ดีมาก ในระดับดีมีอยู่เพียง 28 คน ข้อผิดพลาดที่พบคือ เรื่องวรรคตอนผิด ใช้คำไม่หลากหลาย ซึ่งมีผู้ผ่านเกณฑ์การทดสอบ 250 คนที่บ่งบอกว่าเป็นผู้ใช้ปฏิบัติงานได้ สื่อความคิดได้ครบถ้วน แต่ยังคงต้องเพิ่มเรื่องการเชื่อมโยงความคิด การใช้คำเชื่อม การใช้คำให้ตรงความหมาย และการสะกดคำ ขณะที่มีผู้ทดสอบไม่ผ่าน 120 คน ปัญหาที่สรุปได้คือ ยังขาดความสามารถในการเขียนที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงาน ควรแก้ไขการสื่อความคิดที่ไม่ชัดเจนหรือวกวน ใช้คำผิด สะกดผิด ใช้ภาษาไม่เหมาะสมกับประเภทของงานเขียนผู้ปกครอง พ่อแม่อยากจะให้ลูกเก่งภาษาต่างประเทศแต่ภาษาไทยก็ไม่ควรละทิ้ง หรือไม่สนใจการใช้ที่ถูกต้อง เพราะภาษาทุกภาษาย่อมมีหลักการใช้ที่เหมือนกันคือ ต้องใช้ให้ถูกกาลเทศะ สถานที่ ถูกบุคคล ต้องชัดเจนทั้งการออกเสียงและใช้ประโยค ถูกต้องตามความหมาย และบริบทของภาษา
นอกจากการเรียนรู้ภาษาไทยกลางและภาษาต่างประเทศแล้วภาษาถิ่นของไทยก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา กระแสสังคมคนอาศัยในต่างจังหวัดจะสอนลูกให้พูดภาษากลางอย่างเดียว ไม่สอนภาษาถิ่น ทำให้ลูกพูดภาษาถิ่นไม่ได้ ทำให้เด็กขาดความรู้ในเรื่องนี้ และสังคมท้องถิ่นก็ขาดการสืบทอดสิ่งที่บรรพบุรุษถ่ายทอดกันมา ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เช่น ตำราที่ใช้คำท้องถิ่น ทั้งตำรับยา ชื่อต้นไม้ หรือพิธีกรรม เป็นต้นสื่อมวลชน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการใช้ภาษาไทยแบบผิดๆของประชาชนเพราะ สื่อมวลชนเป็นผู้ที่ให้ข้อมูล ข่าวสารกับประชาชนทุกวัน สื่อมวลชนต้องเป็นผู้นำที่ดีที่สุดของการใช้ภาษาและต้องให้ข้อคิดอยู่เสมอว่า ภาษานั้นสะท้อนความเป็นตัวของเราเอง ถ้าใช้ภาษาดี ภาษาที่ถูกต้อง ภาษาที่นำสังคมไปในทางสร้างสรรค์ สร้างความสามัคคี สร้างความรัก สร้างความภูมิใจในชาติจะทำให้ทุกคนเห็นคล้อยตาม แต่ถ้าหากว่าสื่อมวลชนนำภาษาที่ประหลาด ภาษาที่ไม่ถูกต้องเอามาเผยแพร่บ่อยๆ คนจะคิดว่าสิ่งที่สื่อมวลขนมาเผยแพร่นั้นถูกต้อง เป็นสิ่งที่ดี มันจะทำลายภาษาไทย โดยเฉพาะการใช้ภาษาในข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ต่างๆ เป็นต้น
ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งในการใช้ภาษาไทย ก็คือ ปัญหาการใช้ภาษาไทยของครูและนักเรียน เกิดจาก ครู เนื่องจากครู คือ ผู้ประสาทวิชา เป็นผู้ให้ความรู้แก่ศิษย์ ดังนั้นความรู้ในด้านต่างๆ เด็กๆจึงมักจะได้รับมาจากครูเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ครูบางคนนั้นมีความรู้แต่ไม่แตกฉาน โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่มีความละเอียดอ่อน และมีส่วนประกอบแยกย่อยอย่างละเอียดลออ เมื่อครูไม่เข้าใจภาษาไทยอย่างกระจ่าง จึงทำให้นักเรียนไม่เข้าใจตามไปด้วย จนพานเกลียดภาษาไทยไปในที่สุด ซึ่งเป็นปัญหาที่ปรากฏให้เห็นอยู่มากมายในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น