วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ปัญหาการใช้ภาษาไทยของวัยรุ่น

            ภาษาเป็นสิ่งแสดงภูมิปัญญาอันยอดของมนุษย์ ที่สามารถพัฒนาเสียงซึ่งเปล่งออกได้ด้วยอาการตามธรรมชาติ ให้กลายเป็นเครื่องมือใช้สื่อความคิด ความรู้สึก ความต้องการของตนให้ผู้อื่นรู้และสื่อสารกันได้จนเกิดเป็น ภาษา มนุษย์ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการติดต่อ สื่อสารและทำความเข้าใจกันในหมู่ชนที่ใช้ภาษาเดียวกันได้ ภาษาทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาชีวิต ความเป็นอยู่ความรู้ความสามารถในการหาเลี้ยงชีพ และความสามารถอื่นๆ อีกมากมาย มนุษย์สามารถพัฒนาความรู้ ความคิด จิตใจ คุณธรรม ความเชื่อ ศิลปะ ฯลฯ จนแตกต่างจากสัตว์ทุกชนิดและเป็นผู้ครองโลกได้ก็ด้วยภาษาของมนุษย์นี่เอง ภาษาจึงเป็นส่วนสำคัญ ของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชนที่เจริญก้าวหน้าจนเป็นมหาอำนาจหรือกลุ่มชนที่ล้าหลังที่สุด ต่างก็มีภาษาใช้สื่อสารกันในกลุ่มของตน และทุกภาษาจะมีความสมบรูณ์เพียงพอที่จะใช้สื่อสารกันได้ในกลุ่ม เมื่อมนุษย์ได้ติดต่อกับคนต่างกลุ่ม ติดต่อกับคนที่ใช้ภาษาต่างไปจากตน การหยิบยืมทางภาษาก็อาจเกิดขึ้นได้ในทุกกลุ่มชน การยืมจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความต้องการของคนในสังคมนั้นๆ มนุษย์เราใช้ภาษาควบคู่ไปกับการดำรงชีวิต ภาษาจึงอาจรับผลจากความเจริญหรือความเสื่อมของมนุษย์และอาจมีผลต่อ ความเจริญหรือความเสื่อมของสังคมมนุษย์ด้วย

              ภาษาไทยเป็นภาษาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรากฐานมาจากออสโตรไทย ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาษาจีน มีหลายคำที่ขอยืมมาจากภาษาจีน
พ่อขุนรามคำเเหงได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1826 (ค.ศ.1283) มี พยัญชนะ 44ตัว (21 เสียง), สระ 21รูป (32 เสียง), วรรณยุกต์5 เสียง คือ เสียง สามัญ เอก โท ตรี จัตวา ภาษาไทยดัดแปลงลงมาจากบาลี และ สันสกฤต
ภาษาไทยเป็นทั้งวัฒนธรรม เอกลักษณ์ และความภูมิใจของคนไทย แต่ปัจจุบันคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ใช้ภาษาไทยได้ไม่ดีพอ ไม่รู้ว่าพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ในภาษาไทยมีกี่รูป กี่เสียง และยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ยังพูดภาษาไทยผิดบ้าง เขียนผิดบ้าง หรือบ้างก็จับใจความผิด ฟังผิด อ่านผิด บ้างก็พูดภาษาไทยคำภาษาอังกฤษคำ จนเกิดปัญหาการสื่อสารและเข้าใจความหมายของภาษาในทางที่ผิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุที่จะทำให้เสน่ห์ของภาษาไทยค่อย ๆ เลือนหายไป
ภาษาเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ ภาษาเป็นสื่อใช้ติดต่อกันและทำให้วัฒนธรรมอื่นๆเจริญขึ้น แต่ละภาษามีระเบียบของตนแล้วแต่จะตกลงกันในหมู่ชนชาตินั้น ภาษาจึงเป็นศูนย์กลางยืดคนทั้งชาติ ดังข้อความ ตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ในพระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "ความเป็นชาติโดยแท้จริง" ว่า ภาษาเป็นเครื่องผูกพันมนุษย์ต่อมนุษย์แน่นเฟ้นนกว่าสิ่งอื่น และไม่มีสิ่งใด ที่จะทำให้คนรู้สึกเป็นพวกเดียวกันหรือแน่นอนยิ่งไปกว่าภาษาเดียวกัน รัฐบาลทั้งปวงย่อมรู้สึกในข้อนี้อยู่ดี เพราะฉะนั้น รัฐบาลใดที่ต้องปกครองคนต่างชาติต่างภาษา จึงต้องพยายามตั้งโรงเรียนและออกบัญญัติบังคับ ให้ชนต่างภาษาเรียนภาษาของผู้ปกครอง แต่ความคิดเห็นเช่นนี้ จะสำเร็จตามปรารถนาของรัฐบาลเสมอก็หามิได้ แต่ถ้ายังจัดการแปลง ภาษาไม่สำเร็จอยู่ตราบใด ก็แปลว่า ผู้พูดภาษากับผู้ปกครองนั้นยังไม่เชื่ออยู่ตราบนั้นและยังจะเรียกว่าเป็นชาติเดียวกันกับมหาชนพื้นเมืองไม่ได้ อยู่ตราบนั้น ภาษาเป็นสิ่งซึ่งฝังอยู่ในใจมนุษย์แน่นแฟ้นยิ่งกว่าสิ่งอื่น  ดังนั้น   ภาษาก็เปรียบได้กับรั้วของชาติ ถ้าชนชาติใดรักษาภาษาของตนไว้ได้ดี ให้บริสุทธิ์ ก็จะได้ชื่อว่า รักษาความเป็นชาติ

            คนไทยเป็นผู้ที่โชคดีที่มีภาษาของตนเอง และมีอักษรไทย เป็นตัวอักษร ประจำชาติ อันเป็นมรดกล้ำค่าที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงว่าไทยเราเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมสูงส่งมาแต่โบราณกาลและยั่งยืนมาจนปัจจุบัน คนไทยผู้เป็นเจ้าของภาษา ควรภาคภูมิใจที่ชาติไทยใช้ภาษาไทย เป็นภาษาประจำชาติมากว่า 700 ปีแล้ว และจะยั่งยืนตลอดไป ถ้าทุกคนตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย

            ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนือง ๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคน จึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้...“ พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2512

            เราจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นย้ำให้ประชาชนชาวไทยตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทยและพระราชทานแนวความคิดในการอนุรักษ์ภาษาไทยในโอกาสต่าง ๆ อยู่เสมอ ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ คือ เป็นที่ประจักษ์ว่าพระองค์มีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องและเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทยมาโดยตลอด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น